วิวัฒนาการแนวคิดสิทธิมนุษยชน

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ค่อยมีใครพูดคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าใดนัก จนกระทั่งเมื่อสงครามจบลงด้วยความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิตคน จึงได้มีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนกันเพิ่มมากขึ้นในสังคมตะวันตก ตามประเทศยุโรปตอนใต้แถบเมดิเตอเรเนี่ยน โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 น่าสังเกตว่า ปฏิญญาฯ ฉบับนี้ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง) และรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็ประกาศใช้วันเดียวกัน แต่ประกาศก่อนปฏิญญาฯ ถึง 16 ปี

ทำไมจึงมีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้นช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร บทความนี้จะค้นหาคำตอบ โดยจะใช้เนื้อหาในหนังสือชื่อ “สิทธิมนุษยชน และพระศาสนจักร: ข้อพิจารณาและไตร่ตรองเชิงประวัติศาสตร์ และเทวศาสตร์” เป็นหลัก ซึ่งหน้งสือนี้ประกอบไปด้วยสองบทความที่นำเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติ จัดโดยคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งสันตะสำนัก ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 14-16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1988 ซึ่งข้าพเจ้าได้แปลไว้ และได้รับการจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย ในสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539

เป็นที่ยอมรับกันว่าทั่วไปว่า ฝรั่งเศสเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสังคมนิยม เยอรมนีเชี่ยวชาญด้านปรัชญา ส่วนอังกฤษนั้น เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แนวคิดทั้งสามสาขามีส่วนสำคัญทั้งในฐานะปัจจัยผลักดันให้เกิดแนวความคิดด้านสิทธิมนุษยชน

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน เราคงต้องแลหลังหวนไปหาที่มาที่ไปของแนวคิดปรัชญาตะวันตกเสียก่อน เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนแบบตะวันตก ผู้คนในอารยธรรมยุคแรกที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ มีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและอยู่ในการควบคุมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทพ ซึ่งเป็นผู้กำหนดชะตาของทุก ๆ สิ่งในโลก และก่อให้เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ นานา และมนุษย์ต้องให้ความเคารพและถวายเครื่องบูชาเพื่อให้เทพพอใจและไม่ลงโทษมนุษย์ด้วยภัยธรรมชาติ

ต่อมา มนุษย์เริ่มตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากขึ้น เกิดความมั่นใจว่าตนสามารถควบคุมธรรมชาติได้ มนุษย์แสวงหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และชีวิตหลังความตาย ชนชาวกรีกเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับระดับการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อว่ามนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้ นี่คือแนวคิดแบบกรีก ปรัชญาตะวันตกก็มีต้นกำเนิดสำคัญมาจากกรีกก่อนคริสศตวรรษนี่เอง ซึ่งสามารถศึกษาได้จากมหากาพย์ต่าง ๆ แนวคิดด้านจิตวิทยาก็ได้มาจากมหากาพย์โบราณนี้ด้วย แม้แต่แนวคิดทางการเมืองที่ว่า  ผู้ปกครองที่ดีต้องเป็นนักปราชญ์ ก็เป็นการนำเสนอโดย โสเครติส ซึ่งถือว่าเป็นบิดาปรัชญาตะวันตก มีพื้นฐานอยู่ที่หลักเหตุผล ซึ่งหลักนี้ผิดกับปรัชญาตะวันออก ที่มิได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลเพียงอย่างเดียว เพราะเหตุผลถูกต้องสำหรับคนหนึ่ง แต่ไม่ถูกต้องสำหรับอีกคนหนึ่ง และเหตุผลถูกต้องในวันนี้ ไม่จำเป็นต้องถูกต้องในวันข้างหน้า และหลักเหตุผลเกิดจากสมมติฐาน หรือความเชื่อและอุดมการณ์ที่ยึดถืออยู่ (bias) เป็นตัวตั้ง ใช้วิธีการตั้งคำถามถกเถียงด้วยเหตุผล แนวปรัชญานี้ เน้นปัจเจกบุคคล ถือว่ามนุษย์เป็นบุคคลพิศษ เป็นหน่วยกระทำที่อิสระจากกฎเกณฑ์ธรรมชาติและศีลธรรม และสามารถพิจารณาสถานการณ์ของตนเองได้ เปลี่ยนจากการเชื่อในสิ่งมหัศจรรย์ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ไปสู่แนวคิดว่าทุกสิ่งสามารถทดลองได้ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์นั่นเอง  ต่อมา แนวคิดแบบกรีกนี้ ได้มีการผสมผสานเข้ากับแนวคิดโรมัน เมื่อจักรวรรดิโรมันสามารถครอบครองกรีกได้ แนวคิดปรัชญาตะวันตกที่หลอมรวมปรัชญากรีกกับวิถีแห่งกฎหมายโรมัน จึงได้ชื่อเรียกว่าปรัชญากรีก-โรมัน (Greco-Roman) ที่ประสานแนวคิดที่ว่ามนุษย์เป็นอิสระ มีเสรีภาพตามปรัชญากรีก แต่ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ (กฎหมาย) ที่มนุษย์กำหนดขึ้นตามวิถีของโรมัน

เมื่อศาสนจักรคริสต์ได้เข้าไปเติบโตขึ้นในยุโรป โดยเริ่มจากทางใต้แถบเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้แนวปรัชญากรีก-โรมัน ที่เน้นเหตุผลและมองมนุษย์ว่ามีอิสระเสรีภาพภายใต้กฎเกณฑ์ที่มนุษย์กำหนดขึ้น มาพบกับแนวคิดแบบยูเดโอ-คริสเตียน ซึ่งคริสต์ศาสนจักรเป็นผู้นำทางแนวคิดทางศาสนาที่ยึดถือพระเจ้าเป็นหลัก ก่อให้เกิดแนวคิดแบบกรีก-ลาติน (Greco-Latin) นั่นคือ มีหลักสามประการที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือ ปัจเจก (ตามแนวคิดกรีก) สังคม (ตามแนวคิดโรมัน) และพระเจ้าตามแนวคิดของศาสนจักรคาทอลิก นี่ถือเป็นวิวัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนยุคแรก แต่เมื่อระบบโรมันล่มสลาย ยุโรปก้าวสู่กลียุค ไม่มีแม้แต่รัฐหรือผู้มีอำนาจ มีเพียงแค่ศาสนจักรเท่านั้นที่เป็นพลังอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ ก่อนหน้านี้อาณาจักรกับศาสนจักรเข้ากันได้ดีเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกกฎหมาย ทำให้ศาสนจักรมีอำนาจมาก ถึงขนาดเป็นผู้รับรองการขึ้นครองอำนาจของจักรพรรดิ์และกษัตริย์ทั้งหลายในยุโรปเป็นระยะเวลายาวนาน

แนวความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในเวลาต่อมามีนักบุญโทมัส อาไควนัส และบรรดานักบวชที่เป็นนักปรัชญาและเทววิทยา แนวคิดของโทมัส อาไควนัสอยู่บนพื้นฐานของมานุษยวิทยา เน้นคุณค่าของมนุษย์แต่ละบุคคล ซึ่งเป็นร่างกายที่มีจิตวิญญาณ เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกับจักรวาล มีเป้าหมายท้ายสุดที่เหนือธรรมชาติที่จะบรรลุถึงได้ในโลกหน้าเท่านั้น มนุษย์เป็นสิ่งสร้างเสรี ตัดสินใจเองได้ ควบคุมตัวเองได้และก็ถูกควบคุมด้วย มีความรับผิดชอบต่อระเบียบทางธรรมชาติ เลือกดำเนินตามเป้าหมายของตนได้ กล่าวคือ มีเจตจำนงเสรีนั่นเอง นักบุญโทมันยังได้จัดลำดับความจำเป็นพื้นฐานไว้ นั่นคือ สิทธิที่จะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม บูรณภาพของร่างกาย ชีวิตและความต้องการอื่น ๆ เช่น สิทธิที่จะสืบเผ่าพันธุ์ การศึกษา ชีวิตทางสังคม ฯลฯ แนวคิดนี้ยังคงยึดถือพระเจ้าเป็นพื้นฐานของระเบียบโลก

แนวคิดเกี่ยวกับเจตจำนงเสรี อิระ และเสรีภาพนี้ เริ่มทำให้สังคมตะวันตกคิดว่า มนุษย์สามารถพัฒนาโลกได้โดยมิต้องพึ่งพาพระเจ้า และยังเริ่มคิดถึงการแยกพระเจ้าและโลกออกจากกัน ผลก็คือ บรรดาเจ้าขุนมูลนายที่ตกอยู่ใต้อำนาจของจักรพรรดิและกษัตริย์จึงได้เคลื่อนไหวเพื่อให้พ้นพันธนาการ ซึ่งนำไปสู่การออกธรรมนูญแห่งอิสรภาพที่มีชื่อเสียงในชื่อว่า Magna Charta Libertatum หรือ Magna Carta ใน ค.ศ. 1215 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษที่ได้รับการสรรเสริญและเป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่พากันร่างตามออกมา รวมถึงสนธิสัญญาต่าง ๆ ในเวลาต่อมา หลักใหญ่ใจความก็คือการมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะถือว่ามนุษย์มีอิสระเสรีและสิทธิที่จะเลือกและกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ และเพราะไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจของบรรดาจักรพรรดิ กษัตริย์ และนักบวชศาสนาคริสต์อีกต่อไป เป็นยุคเรืองปัญญา ทำให้มีการแยกศาสนาและระเบียบทางสังคมและการเมืองโดยสิ้นเชิง และวิวัฒนาการนี้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ. 1789-1799 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างถึงรากฐานในฝรั่งเศสและยุโรปโดยรวม เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองฝรั่งเศสมาหลายศตวรรษ อำนาจของจักรพรรดิ อภิสิทธิ์ชน และศาสนาถูกโค่นล้ม

ทางฝากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเพิ่งเกิด เป็นประเทศแรกที่เป็นแบบอย่างของขบวนการทางทฤษฎี และการเมืองที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนโดยการประกาศแถลงการณ์ว่าด้วยสิทธิของรัฐเวอร์จิเนียเมื่อปี  1776 การปฎิวัติฝรั่งเศสชูแนวคิดหลักการสามประการ คือ ความเสมอภาค ความเป็นพลเมือง และสิทธิที่ไม่สามารถถ่ายโอนให้กันได้ ที่ปรากฏออกมาในคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” (Liberty, Equality, Fraternity) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การแยกโลก (คน สังคม การเมือง) และศาสนาออกจากกัน ถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของลัทธิโลกียนิยม (secularization) อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มการพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น บนพื้นฐานของปรัชญากรีก คือการหาเหตุผล ที่มนุษย์เป็นอิสระ มีเสรีภาพที่จะควบคุมตัวเองและธรรมชาติได้

แนวคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีวิวัฒนาการต่อมา จนถึงการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ว่าด้วยสิทธิด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

แน่นอน แนวคิดศาสนคริสต์ มีส่วนสำคัญในการนิยามสิทธิมนุษยชนมาแต่โบราณ โดยเฉพาะหลักการสำคัญทั้งมวล แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันบางเรื่องก็ตาม หลักการสำคัญมาจากพระคัมภีร์ที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ยน. 8: 31-42) และความจริงนั้นก็คือ มนุษย์เป็นบุตรของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ มนุษย์จึงมี “ศักดิ์ศรี” ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ และเพราะศักดิ์ศรีที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งนี้ ทำให้มนุษย์มีเจตจำนงเสรี มีความคิดอ่าน ตัดสินใจเองได้ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในหน้าที่และสิ่งที่ตัวเองกระทำ แต่สิทธิตามศักดิ์ศรีนี้ จะต้องให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าเช่นกัน) เป็นลำดับแรก มนุษย์ไม่สามารถนิ่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนหากมีการละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ ความรับผิดชอบสูงสุดของมนุษย์ คือการร่วมสร้างและร่วมไถ่กู้มนุษย์และโลกตามที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้า ด้วยคุณค่าแห่งพระอาณาจักร (Kingdom Values) เป็นการร่วมทำให้พระอาณาจักรของพระเจ้า (Kingdom of God) เป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น สิทธิมนุษยชนตามคำสอนของคาทอลิกจึงประกอบไปด้วยหลักเสรีภาพ ความยุติธรรม ความดีส่วนรวม

แชร์บทความนี้