การจัดการชุมชนหมู่คณะให้เข้มแข็ง

งานพัฒนามนุษย์ในทุกมิติ (Integral Human Development) ถือเป็นงานหลักของศูนย์สังคมพัฒนา ภายใต้มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ในงานนี้ ศูนย์ฯ มุ่งส่งเสริมให้ทุกคนดำเนินชีวิตได้ตามศักดิ์ศรีมนุษย์ที่ได้รับจากพระเจ้า โดยเฉพาะการทำงานกับผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส  และผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือมีความเสี่ยงต่าง ๆ ศูนย์ฯ เชื่อว่า มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีการดำเนินชีวิตเป็นกลุ่ม หมู่คณะ ชุมชน และสังคมเพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน เคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติความยุติธรรมและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นสังคมส่วนรวม และรวมถึงการไม่ระรานสิ่งแวดล้อม หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแสวงประโยชน์จนเกินเลยต่อความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์

ศูนย์ฯ ทำงานพัฒนามนุษย์ในทุกมิติ โดยส่งเสริมการสร้างชุมชนหมู่คณะ ตามความเชื่อและคำสอนทางศาสนาที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีเพื่อน คือมีชาย และมีหญิงให้เป็นครอบครัว ซึ่งถือเป็นชุมชนหน่วยเล็กที่สุดพื้นฐานในสังคมมนุษย์ และในทางสังคมวิทยาเองก็ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม รวมถึงพระเจ้ายังทรงสร้างสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อให้มาเป็นเพื่อนของมนุษย์ด้วย

จากประสบการณ์ในสังคมที่ผ่านมา การสร้างกลุ่ม สร้างชุมชนหมู่คณะนั้น มิใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำและประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการทำงานกับมนุษย์ ซึ่งยังคงมีความอ่อนแออยู่ ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงมีแนวทางทำงานเพื่อสร้างชุมชนหมู่คณะให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ โดยแนวทางนี้เกิดจากการสรุปบทเรียน การไตร่ตรองการทำงานที่ผ่านมา และปรึกษาหารือกับคนอื่น ๆ และองค์กรอื่น ๆ ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

แนวทางประการแรก คือการปลุกจิตสำนึก จำเป็นต้องมีการปลุกจิตสำนึกว่าเราแต่ละคนอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ มีความจำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังสำนวนไทยที่ว่า ‘เศรษฐียังรู้จักขาดไฟ’ ซึ่งหมายความว่า แม้คนเราจะมีปัจจัยทุกสิ่งไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ก็มีโอกาสบ้างที่จะขาดอะไรบางอย่างโดยไม่คาดคิด เป็นสำนวนที่สอนให้รู้จักผูกมิตรเพื่อสักวันหนึ่งอาจต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อผู้คนตระหนักว่าจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ก็จะรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะได้ง่ายกว่า

ประการที่สอง เมื่อมีกลุ่ม ชุมชนหมู่คณะเกิดขึ้น ก็จะมีบางคนทำหน้าที่เป็นผู้นำ แต่การมีผู้นำเดี่ยวนั้นมีความเสี่ยง เพราะหากผู้นำคนนั้นมีปัญหาไม่สามารถนำต่อได้ หรือขาดความเชื่อถือจากสมาชิก ก็สามารถทำให้กลุ่มหรือชุมชนหมู่คณะล้มได้  เพื่อให้กลุ่ม ชุมชนหมู่คณะมีความเข้มแข็งยืนยงอย่างต่อเนื่อง เราต้องพัฒนาความเป็นผู้นำให้แก่สมาชิกทุกคน โดยเปิดโอกาสให้แสดงบทบาทต่าง ๆ ให้เกิดลักษณะผู้นำขึ้น และสามารถร่วมกันบริหารกลุ่มต่อไป เพื่อป้องกันการผูกขาดกลุ่มและการตัดสินใจโดยผู้นำเดี่ยว

ประการที่สาม มีการพบปะกันสม่ำเสมอ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต รวมถึงปัญหา และวิธีการแก้ไข ข่าวคราวในชุมชนและข่าวคราวจากที่อื่น การรับรู้เรื่องราวชีวิตของกันและกัน จะช่วยทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น และสามารถทำให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแบ่งปันกันได้มากขึ้น

ประการที่สี่ สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับกลุ่ม ทั้งในการพบปะกัน แสดงความคิดเห็น รับฟังกันเคารพความเห็นของกันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และรับประโยชน์ที่เกิดจากกลุ่มชุมชนหมู่คณะร่วมกัน ซึ่งถือเป็นลักษณะที่สำคัญของประชาธิปไตย โดยจะก่อให้เกิดความสำนึกว่านี่คือกลุ่มชุมชนหมู่คณะของตน และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน หากสมาชิกไม่มีส่วนร่วม ก็จะเปิดโอกาสให้สมาชิกบางคนมีบทบาทเด่นเป็นผู้นำเดี่ยว

การทำงานสร้างกลุ่มชุมชนหมู่คณะ จึงควรดำเนินการตามแนวทางอย่างน้อยสี่ประการข้างต้น เพื่อให้กลุ่มชุมชนหมู่คณะมีความเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถพึ่งพาอาศัยกันและกันได้

แชร์บทความนี้