คำนำ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ในชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แม้กระทั่งการเมืองและนโยบายรัฐ นี่คือประเด็นแรงงานต่างชาติจำนวนเรือนล้านที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานเหล่านี้ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุผลักดัน คือความยากจน หางานทำยาก สงคราม ความขัดแย้ง และปัญหาการเมืองภายในประเทศของตน ส่วนสาเหตุดึงดูด คือมีโอกาสหางานทำง่ายกว่าในประเทศไทย รายได้ดีกว่า อิสระเสรีมากกว่า สภาพความเป็นอยู่ดีกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเข้ามาแล้ว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมิได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดังที่คาด มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเข้ามาประเทศไทย เมื่อได้เข้ามาประเทศไทยแล้ว อาจไม่ได้ทำงานดังที่คาดหรือได้มีการตกลงกับนายหน้า ต้องทำงานหนักวันละกว่า 8 ชั่วโมง หลายคนต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน โดยเฉพาะคนงานที่ต้องทำงานในเรือประมงที่ต้องทำงานต่อเนื่องอาจะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือหลายเดือนต่อเนื่องกันถึงจะได้ขึ้นฝั่ง นอกจากนั้น คนงานข้ามชาติจำนวนมาก ยังต้องอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัด ขาดการระบายอากาศที่ดี และยังต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายในสภาพการทำงานที่ไม่ดี พวกเขายังไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ ย้ายนายจ้างไม่ได้ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็ไม่ดี ถูกเลือกปฏิบัติและรังเกียจ ทั้ง ๆ ที่แรงงานต่างชาติมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อแรงงานทาสทั่วโลกเกือบ 21 ล้านคนในอุตสาหกรรมที่ทำผลกำไรอย่างผิดกฎหมายเช่นนี้ปีละ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5.3 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจประเทศที่ถูกเรียกว่า ‘พัฒนาแล้ว’ นั้น เติบโตขึ้นเพราะได้แรงงานถูกจากต่างประเทศทั้งนั้น แต่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ กลับถูกรังเกียจ เลือกปฏิบัติ บังคับ หลอกลวง แม้กระทั่งถูกมองว่าเป็นพวกที่นำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง
อุตสาหกรรมกับแรงงาน
เมื่อกล่าวถึงแรงงาน ในเชิงเศรษฐศาสตร์และการเมือง หมายถึงมนุษย์ทุกคนในวัยแรงงานที่ประกอบอาชีพไม่ว่าจะใช้กำลังแรงงานหรือไม่ก็ตาม รวมถึงผู้ว่างงานด้วย ส่วนคนงาน ซึ่งโดยทั่วไปมักจะหมายถึงแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่เราก็พบว่า มีคนงานจำนวนมากที่ทำงานด้านการเกษตร ประเทศไทยถือได้ว่าเข้าสู่ยุคบุกเบิกการค้า การพัฒนา และอุตสาหกรรม หลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2398 หรือ 161 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ทางการค้า การพัฒนา และอุตสาหกรรมตามแนวทางตะวันตกเมื่อรัฐบาลในยุคนั้นเริ่มต้นดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ก่อนหน้านั้น แม้จะมีแรงงานก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงแรงงานในอุตสาหกรรมครัวเรือนหรือภาคเกษตรเป็นหลัก และความสัมพันธ์ด้านนายจ้าง-แรงงานโดยการจ้างงานยังไม่เด่นชัด ในยุคบุกเบิก ประเทศไทยเริ่มมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้ว เช่น โรงเลื่อย และโรงสีข้าว เพื่อการส่งออกสินค้าหลักคือข้าวและไม้ ซึ่งในยุคนี้ อาจถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการจ้างแรงงานอย่างเป็นแบบแผน เกิดชนชั้นแรงงานเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 แรงงานต่างชาติก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยอนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2535 เริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์[1]
แต่เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก ยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้นเมื่อมีการประดิษฐ์และใช้เครื่องจักรไอน้ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอในอังกฤษเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นยุคที่ถือว่าเกิดชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมขึ้นในโลก ไม่ว่าชนชั้นแรงงาน หรือคนงาน โดยเฉพาะคนงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมนี้ มักจะเป็นผู้ที่ต้องดิ้นรนหางานทำ มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ต้องทำงานหนัก มีโอกาสประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งเรียกว่าปัญหาอาชีวอนามัย นอกจากนั้น ในปัจจุบัน แรงงานส่วนหนึ่งยังอาจจะต้องเผชิญกับการค้ามนุษย์ ถูกหลอกลวง ถูกข่มขู่บังคับ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดปัญหาแรงงาน เนื่องจากชาวชนบท โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหางานทำ แต่ต้องตกอยู่ในสภาพความเป็นอยู่อย่างน่าสมเพช ทั้งชาย หญิง และเด็ก อยู่กันอย่างแออัดในบ้านเช่าแคบ ๆ ทำงานวันละ 14 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นโดยได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก นอกจากนั้น คนงานอาจตกงานได้ง่าย การตกงานย่อมหมายถึงการอดตาย[2] สาเหตุของความตกต่ำของคนงานเหมือนแอกที่ผู้มีฐานะร่ำรวยยิ่งจำนวนน้อยมากนำมาให้คนงานแบก[3]
หลักธรรมคำสอนพื้นฐานของคาทอลิก
เมื่อต้องพบเห็นความทุกข์ยากของ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิก ก็ไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ มีกลุ่มและองค์กรคาทอลิกมากมายเกิดขึ้นเพื่อทำงานด้านสังคมช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งก็รวมถึงแรงงานต่างชาติ ผู้อพยพย้ายถิ่น และผู้ลี้ภัยด้วย การกระทำดังกล่าว เกิดจากความรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำต่อเพื่อนมนุษย์ ตามหลักธรรมคำสอนในพระคัมภีร์ของคาทอลิก ที่เราทุกคนต้องทำต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่น โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก และบรรดาพระสันตะปาปา (โป๊ป) และพระผู้ใหญ่ยังได้ให้คำอธิบายคำสอน โดยเฉพาะคำสอนด้านสังคมด้วย คำสอนด้านสังคมนี้ ถือว่ามีการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในศตวรรษที่ 19 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อเยาวชนจากชนบทอพยพเข้ามาทำงานในโรงงาน และมีสภาพชีวิตที่ขัดสน โดยพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ได้ออกสมณสาสน์เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีคำสอนด้านสังคมชัดเจนเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุคนั้น เอกสารคำสอนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรงอีกฉบับคือ สมณสาสน์เรื่องการทำงาน โดยนักบุญพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2
ตามหลักธรรมคำสอนพื้นฐานของคาทอลิกนั้น พระเจ้าสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์และเป็นบุตรของพระองค์ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน ต้องสนใจ ห่วงใย แบ่งปัน และช่วยเหลือกันและกัน ทั้งในยามสุขและในยามทุกข์ มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรีตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงมีสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบโดยธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องให้เกียรติและเคารพกันและกัน ถือเอาความรักเป็นหลักสำคัญที่สุด ตามคำสอนของพระเยซูเจ้าผู้ทรงมอบบัญญัติเอกไว้สองข้อ คือ รักพระเจ้า และรักเพื่อนมนุษย์ (เทียบ ลก 10:27) ต้องรักเพื่อนมนุษย์เพื่อยืนยันว่าเรารักพระเจ้า (เทียบ 1ยน 4:20) ความรักยังต้องประกอบไปด้วยความยุติธรรมและความเมตตา แบ่งอาหารไปเลี้ยงคนป่วยและแม่หม้าย ดูแลคนจน คนชรา เด็กกำพร้าและเด็กยากไร้ ในยามเกิดภัยพิบัติ ดูแลคนไข้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาอื่นก็ตาม และยังต้องปกป้องคนจนและผู้ถูกกดขี่ด้วย[4] พระเยซูเจ้ายังได้ตรัสว่า ในการพิพากษาครั้งสุดท้ายนั้น พระองค์จะทรงเชิญผู้ชอบธรรมให้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระองค์ เพราะ ‘เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา ….. ทุกสิ่งที่ท่านได้ทำต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเราเอง’ (เทียบ มธ 25:31-40) ต้องแบ่งอาหารไปเลี้ยงคนป่วยและแม่หม้าย บริจาคเพื่อเลี้ยงดูคนจน คนชรา เด็กกำพร้า และเด็กยากไร้ในยามเกิดภัยพิบัติ ร่วมกันดูแลคนไข้ด้วยความเสียสละไม่ว่าคนไข้จะนับถือคริสต์ศาสนาหรือศาสนาอื่นก็ตาม (เทียบ กจ 4) ต้องปกป้องคนจนและผู้ถูกกดขี่[5]
ด้วยแรงผลักดันจากหลักธรรมคำสอนข้างต้น จึงทำให้องค์กรศาสนาคาทอลิกทำงานกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และแรงงานต่างชาติมาตลอด ไม่ว่าจะในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างที่พระสันตะปาปาฟรานซิส หรือโป๊ปฟรานซิส เร่งรัดให้อียูช่วยเหลือผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย อิรัก และอาฟริกาเหนือ องค์กรคาทอลิกในประเทศไทยก็ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และแรงงานอพยพด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกัน การคุ้มครองสิทธิ์ และการช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่และด้านกฎหมาย โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวว่า เราไม่อาจนิ่งเฉย นั่งดูดายต่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ และความเสื่อมโทรมของธรรมชาติได้ ทุกคนมีหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และปกป้องธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย
คำสอนคาทอลิกเกี่ยวกับแรงงาน
ตามที่ได้กล่าวเบื้องต้นไปแล้วว่า คำสอนด้านสังคมเกี่ยวกับแรงงานนั้น มีบันทึกไว้ในสมณสาสน์ที่สำคัญสองฉบับ คือ สมณสาสน์ ‘สิ่งใหม่’ (Rerum Novarum) ของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 และสมณสาสน์ ‘การทำงาน’ (Laborem Exercens) ของนักบุญพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 รวมถึงมีการกล่าวถึงในเอกสารของพระศาสนจักรคาทอลิกอื่น ๆ อีกด้วย คำสอนด้านแรงงานมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในส่วนของคนงานนั้น
- คนงานมีสิทธิโดยธรรมชาติในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ห้ามมิให้ชนชั้นหนึ่ง (คือทุน) ตัดคนอีกชั้นหนึ่ง (คือแรงงาน) ออกไปโดยไม่ให้ส่วนแบ่งของผลประโยชน์
- ความไม่เท่าเทียมนำไปสู่ความท้อใจ ความขัดแย้ง รวมทั้งความเคราะห์ร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน
- คนงานต้องทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยความซื่อสัตย์ตามข้อตกลงที่ได้กระทำต่อกันด้วยความสมัครใจและยุติธรรม อย่าทำลายทรัพย์สินของนายจ้างหรือกระทำการรุนแรงต่อบุคคล
- คนงานมีสิทธิ์หยุดพักงาน อย่างน้อยสัปดาห์ละวัน และวันสำคัญทางศาสนาเพื่อทำศาสนกิจตามความเชื่อของตน
- โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงการมีที่ดิน
- ค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ จะต้องพอจุนเจือครอบครัว เรียกว่าค่าจ้างสำหรับครอบครัว หรือค่าจ้างที่ยุติธรรม คนงานจะได้นำไปซื้อที่ดินเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของกรรมกร การมีที่ดินมีข้อดีอีกหลายประการสำหรับกรรมกร
- คนงานมีสิทธิในการตั้งสมาคมหรือสหภาพแรงงาน
- คนงานมีสิทธิในการทำงานในเวลาที่จำกัด มีสิทธิในการหยุดพักตามกฎหมาย
- คนงานมีสิทธิในการฏิบัติศาสนกิจอย่างเสรี
- เด็กและสตรีมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติแตกต่างออกไปตามประเภทและระยะเวลาทำงาน
สำหรับนายจ้าง
- นายจ้างต้องไม่ดูถูกดูหมิ่นคนงานราวกับว่าเป็นทาสของตน แต่ต้องเคารพศักดิ์ศรีของคนงาน การใช้คนงานราวกับสิ่งของเพื่อหากำไร หรือเอากำลังวังชาเพียงอย่างเดียวเป็นเกณฑ์วัดค่าของคน เป็นสิ่งที่น่าละอายใจ ไร้มนษยธรรม
- นายจ้างต้องเอาใจใส่มิให้คนงานเสื่อมเสียและเสี่ยงต่ออันตรายในการทำงาน ต้องดูแลให้คนงานสามารถปฏิบัติบทบาทหน้าที่ในครอบครัว
- นายจ้างต้องไม่ใช้คนงานจนเกินกำลัง หรือทำงานที่ไม่เหมาะสมกับเพศและวัย
- ในการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างจะต้องถือหลักความยุติธรรม โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือเลือกปฏิบัติ
- นายจ้างต้องละเว้นการตัดค่าจ้างของกรรมกร การใช้กำลังบังคับ เล่ห์ หรือการเรียกดอกเบี้ยแบบขูดรีด
- นายจ้างต้องไม่ข่มขู่คนงานให้ยอมรับสภาพการทำงานที่มีอันตราย มีความเสี่ยง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- นายจ้างต้องปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงวัยและเพศ ตลอดจนจัดให้คนงานพักผ่อนอย่างเหมาะสม
ในส่วนของภาครัฐ
- คนงานและนายจ้างสามารถบรรเทาปัญหาความขัดแย้งลงได้อย่างมากโดยร่วมมือกันตั้งสมาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคม หรือ สหภาพคนงาน ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนงาน เพราะการรวมตัวกันในกลุ่มเล็ก ๆ เกิดจากแรงกระตุ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ผลักดันให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม ตั้งแต่สังคมเล็กที่สุด (คือครอบครัว) สังคมที่คั่นกลางระหว่างครอบครัวและรัฐ (เช่นสมาคม) จนถึงสังคมขนาดใหญ่ ได้แก่ สังคมการเมืองหรือรัฐ
- การเข้าสมาคมเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิตามธรรมชาติ มิใช่ทำลายมัน หากรัฐห้ามมิให้พลเมืองก่อตั้งสมาคม ก็ถือได้ว่า รัฐปฏิบัติขัดแย้งกับหลักการมีอยู่ของรัฐเอง เพราะว่าการมีอยู่ของสมาคมทั้งสองประเภท (คือสมาคมอาชีพ และรัฐ) มาจากหลักการเดียวกัน
- รัฐมีหน้าที่ดูแลการอยู่ดีมีสุขของพลเมืองอย่างทั่วถึง ประการแรก ผู้ปกครองรัฐต้องสร้างหลักประกันว่า กฎหมายและการบริหารรัฐ จะก่อให้เกิดความผาสุกแก่คนทั่วไปและความเจริญของบุคคล ผู้ปกครองต้องทำให้ชนทุกชั้นในรัฐได้รับประโยชน์ และส่งเสริมประโยชน์ของคนยากจนสุดความสามารถ
- มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นต่ำ ย่อมเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ชนชั้นแรงงานเป็นสมาชิกของรัฐเท่าเทียมกับคนรวย ชนชั้นแรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐ การละเลยพลเมืองส่วนหนึ่งแล้วไปเข้าข้างคนอีกส่วนหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล ฉะนั้น โดยหน้าที่ฝ่ายบริหารของรัฐต้องสอดส่องดูแลให้ชนชั้นแรงงานอยู่ดีมีสุข มิฉะนั้น คณะผู้บริหารจะละเมิดกฏแห่งความยุติธรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า แต่ละคนจะต้องได้รับสิ่งที่เขามีสิทธิได้รับ คือการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมอย่างเคร่งครัดต่อคนในแต่ละชนชั้น และทุกชนชั้นด้วยความเสมอภาค ซึ่งเรียกว่า ความยุติธรรมแบบกระจาย (distributive justice) รัฐมั่งคั่งเพราะแรงงานของคนงาน พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ยังได้กล่าวถึง ความยุติธรรมในเชิงแลกเปลี่ยน (exchange or commutative justice), ความยุติธรรมเชิงบริหาร (executive justice), และความยุติธรรมทางกฎหมาย (legal justice)
- คนงานและคนยากจนมีสิทธิเรียกร้องความเอาใจใส่จากรัฐเป็นพิเศษ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลแต่ละคน คนงาน คนยากจนและผู้ขัดสนควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ชนชั้นร่ำรวยและนายจ้างมีทางป้องกันตนเองได้หลายวิธีและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐน้อยกว่า คนงานและคนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไร้ที่พึ่งและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ คนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในชนชั้นหลัง จึงควรได้รับความเอาใจใส่และความคุ้มครองเจากรัฐเป็นพิเศษ
- คนงานก็มีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการควบคุมการทำงานของรัฐเพื่อประโยชน์สุขของคนทุกคน
- สิ่งสำคัญอันดับแรกที่รัฐพึงกระทำ (เพื่อคลี่คลายปัญหาของผู้ใช้แรงงาน) คือ ช่วยคนงานให้พ้นจากความโหดของคนโลภที่ใช้มนุษย์เป็นเพียงเครื่องมือกอบโกยเงินทอง การทำให้คนโทรมลงด้วยการให้ตรำงานมากเกินไป ปัญญาทึบ และร่างกายทรุดลง ถือได้ว่าเป็นความอยุติธรรมและไร้มนุษยธรรม กำลังคนมีขอบเขตจำกัด และคนไม่อาจใช้กำลังเกินกว่านั้น คนต้องได้หยุดพักผ่อนพอเหมาะพอควร รัฐต้องควบคุมมิให้ผู้ใช้แรงงานทำงานนานหลายชั่วโมงจนเกินกำลัง การกำหนดการหยุดพักว่าควรมีระยะเว้นห่างและเวลาหยุดพักนานเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับประเภทงานที่ทำ และสิ่งแวดล้อมด้านเวลาและสถานที่ ตลอดจนสุขภาพและกำลังวังชาของคนงานคนงานเหมืองและคนงานโรงย่อยหิน ควรมีชั่วโมงทำงานสั้นลงตามสัดส่วนพลังงานที่ใช้ไป
- รัฐต้องห้ามมิให้มีการจ้างผู้หญิงหรือเด็กทำงานที่เหมาะกับชายฉกรรจ์ ส่วนเด็ก ควรได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี กลาวคือ อย่าให้เด็กทำงานในโรงงานขนาดเล็กและโรงงานขนาดใหญ่ จนกว่าจะถึงวัยที่ร่างกายและสติปัญญาพัฒนาพอเพียงแล้ว
นักบุญพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ได้กล่าวถึงเรื่องการทำงาน แรงงาน และสิทธิของคนงานไว้ในสมณสาสน์ ‘การทำงาน’ (Laborem Exercens)[6] ของพระองค์ค่อนข้างละเอียด และสอดคล้องกับบริบทสังคมแรงงานปัจจุบันดังต่อไปนี้
- ต้องถือว่ามนุษย์เป็นผู้ทำงาน แม้ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีทำงาน ‘ฉลาดและเก่งกว่ามนุษย์’ แต่เทคโนโลยีก็เป็นเพียงผลงานของมนุษย์ หลายครั้ง เทคโนโลยีกลับกลายเป็นศัตรูของมนุษย์ เมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทนที่มนุษย์ มันก็ทำลายความพึงพอใจ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ต้องตกงาน และตกเป็นทาสของเทคโนโลยี
- คนงานสำคัญกว่าทุน นับเนื่องจากการเริ่มยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ศาสนธรรมต้องต่อสู้กับความคิดแบบวัตถุนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งเห็นมนุษย์เป็นเพียงปัจจัยการผลิต เป็นเพียงเครื่องมือ หรือ ‘ทรัพยากร’ ทั้งตัวมนุษย์และการ ทำงานถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้า ให้ความสำคัญแก่การทำงานเฉพาะในแง่ตัวงานเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนงาน กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป
- การทำงานเป็นเครื่องหมายเฉพาะของคนและของความเป็นมนุษย์ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ งานเป็นสิ่งที่ดี และมีค่าสำหรับมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้น
- การทำงานเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างครอบครัวขึ้นได้ ครอบครัวต้องการปัจจัยในการดำรงชีพ ซึ่งมนุษย์จะได้มาด้วยการทำงานนั่นเอง
- สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัว มีความสำคัญเป็นรองต่อจากสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ด้วยเหตุที่ว่า ทรัพย์สินหรือทรัพยากรนั้น มีไว้สำหรับทุก ๆ คน
- นายจ้างโดยอ้อม (คือรัฐ) เป็นผู้กำหนดความสัมพันธ์ด้านแรงาน กำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของนายจ้างโดยตรง เป็นผู้กำหนดสัญญาว่าจ้างและแรงงานสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความ ว่าความรับผิดชอบของนายจ้างโดยตรงจะหมดไป ดังนั้น จึงต้องกำหนดนโยบายแรงงานตามหลักจริยธรรม เคารพสิทธิจริงของคนงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน ปัญญาชน เกษตรกร คนงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ต้องเป็นบรรทัดฐานสำหรับการวางระบบเศรษฐกิจในระดับสังคมและแต่ละรัฐ นโยบายเศรษฐกิจระดับโลก อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
‘พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์’ (ปฐก 1:27)
[1] รายงาน : แรงงานข้ามชาติในสังคมไทย (1) : การย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัย ความผูกพันกับสังคมไทย, ประชาไทย, 2007-10-19
[2] สมณสาสน์ ‘สิ่งใหม่’ (Rerum Novarum), พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13
[3] พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้, สังคายนาวาติกัน ที่ 2
[4] คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร, คุณพ่อสีลม ไชยเผือก, 2002
[5] คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร, คุณพ่อสีลม ไชยเผือก, 2002
[6] สมณสาสน์ ‘การทำงาน’ (Laborem Excersens), นักบุญพระสันตะปาป จอห์น พอล ที่ 2, 1981